Shrink film ฟิล์มหดสารพัดประโยชน์ เป็นมิตรต่อโลก รีไซเคิลได้

30 มิ.ย. 2565


Shrink film ฟิล์มหด ดีอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้าง

ฟิล์มหดหรือ-shrink-film-ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าได้หลากหลายประเภท

การใช้บรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งความปลอดภัยของตัวสินค้า ความสะดวกสบายในการเคลื่อนย้าย และความคล่องตัวในการขนส่ง จำเป็นต้องมีขั้นตอนและวัสดุที่ใช้ในการแพ็กของอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสินค้าที่มีขนาดค่อนข้างเล็กแต่มักซื้อขายกันครั้งละหลาย ๆ ชิ้นอย่างน้ำขวด น้ำกระป๋อง อาหารกระป๋อง ขนม และสินค้าอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้ตัวช่วยในการรวมสินค้าหลาย ๆ ชิ้นไว้ด้วยกัน ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้แก้ปัญหาเหล่านี้คือ ฟิล์มหด Shrink film หรือ Wrap film นั่นเอง 

ในบทความนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับฟิล์มหดให้มากขึ้น ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ทำงานอย่างไร ทำไมจึงเรียกเช่นนี้ และฟิล์มประเภทนี้ใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง รวมถึงคุณสมบัติความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
 

1. คุณสมบัติและการทำงานของฟิล์มหด

ฟิล์มหด เป็นวัสดุที่นำมาใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มักอยู่ในรูปแบบของแผ่นเรียบ หรือเป็นม้วน ที่เรียกกันว่าฟิล์มหดนั้น เพราะตัวฟิล์มเมื่อถูกความร้อนแล้วจะหดตัว รัดเข้ากับรูปทรงของสิ่งของที่ถูกห่อเอาไว้นั่นเอง โดยฟิล์มหดจะมีคุณสมบัติและลักษณะโดยรวม คือมีความยืดหยุ่น รับน้ำหนักได้มาก ต้านทานแรงดึงและแรงกระแทกได้ดี ไม่ฉีกขาดง่าย ขึ้นรูปง่าย ทำรูปทรงได้อย่างอิสระตามรูปร่างสิ่งของต่าง ๆ และมีสีค่อนข้างใส ทำให้มองเห็นสินค้าภายในได้ และพิมพ์ลวดลาย ข้อความต่าง ๆ ลงบนฟิล์มได้ด้วย อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของฟิล์มหดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะแปรผันไปตามวัสดุที่ใช้ผลิตฟิล์มหด ซึ่งมีหลายประเภท หลายสเป็กด้วยกัน


2. ฟิล์มหดผลิตมาจากอะไร?

ฟิล์มหด Shrink film หรือ Wrap film ผลิตจากวัสดุประเภทโพลิเมอร์ พลาสติก PE หรือ โพลิเอทิลีน (Polyethylene) โดยวัสดุ PE แต่ละประเภทจะให้คุณสมบัติความทนทาน ความยืดหยุ่น และสีที่แตกต่างกันไป ฟิล์มหดจึงมีสเป็กที่หลากหลายให้โรงงานและบริษัทต่าง ๆ ได้เลือกใช้อย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • HDPE (High-Density Polyethylene) โพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง

ฟิล์มที่มีความหนาแน่นสูงมีความแข็งแรงมาก ทนทานต่อสารเคมีต่าง ๆ ทั้งกรดและด่าง มีความต้านทานต่อแรงดึงมาก แต่จะมีสีขุ่น ไม่ใสเท่าฟิล์มที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า 

  • LDPE (Low-Density Polyethylene) โพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ

ฟิล์มที่มีความหนาแน่นต่ำ รับน้ำหนักได้มาก ขึ้นรูปง่าย สามารถทำให้สีใสได้มากกว่า HDPE และนำไปผลิตเป็นถุง ฟิล์ม และบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลาย

  • LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) โพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น

ฟิล์มหดที่ผลิตจากวัสดุประเภทนี้ มีคุณสมบัติความหนาเท่ากับ LDPE แต่จะมีความยืดหยุ่นสูงกว่า ทนการกระแทกได้ดีกว่า 

  • mLLDPE (Metallocene Linear Density Polyethylene) โพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำเชิงเส้นจากเมทัลโลซีน

mLLDPE มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับ LLPDE แต่มีโครงสร้างโมเลกุลที่มีระเบียบกว่า ทำให้มีความใสมากกว่า และความหนาที่น้อยกว่า นิยมใช้ในการบรรจุอาหาร

 

3. ฟิล์มหดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง?

Shrink film ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ หรือแม้แต่ในโรงงาน ส่วนมากจะใช้ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อความสะอาดและความปลอดภัย เพราะผลิตภัณฑ์ที่ห่อด้วยฟิล์มหด จะรักษาคุณภาพไว้ได้จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าไม่ได้ถูกเปิดก่อน และป้องกันการเกิดรอยขีดข่วนเสียหายได้ในบางส่วน 
อีกประโยชน์ของฟิล์มหดคือ ทำให้การจัดเก็บสินค้าภายในคลังสินค้า การขนส่ง และการขายในจำนวนมาก ๆ เป็นไปด้วยความง่ายดาย รวดเร็ว และสะดวกสบาย แถมยังป้องกันความเสียหายจากการตกกระแทกได้พอประมาณด้วย


4. ฟิล์มหดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน?

ฟิล์มหด เมื่อใช้เสร็จแล้วอาจนำกลับมาใช้ใหม่ตามครัวเรือนได้ยาก เพราะรูปร่างของฟิล์มหดจะเป็นไปตามผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้มีรูปร่างแปลก และฟิล์มหดในปัจจุบันก็ยังไม่มีการผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่พลาสติก PE ที่ใช้ผลิตฟิล์มหดนั้นสามารถนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลโดยหลอมเป็นพลาสติกใหม่อีกครั้งนั่นเอง จึงสรุปได้ว่า หากมีการคัดแยกและจัดการที่ดีกับฟิล์มหดใช้แล้ว มีการส่งกลับไปรีไซเคิล ฟิล์มหดก็ถือเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

 

หากต้องการใช้ฟิล์มหดมาบรรจุภัณฑ์เพื่อคงมาตรฐานคุณภาพสินค้า และจัดการกับสินค้าได้อย่างสะดวกง่ายดาย และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งที่ดี เลือกใช้ฟิล์มหดจาก GC ที่มีผลิตเม็ดพลาสติก Polyethylene คุณภาพสูงสำหรับผลิตภัณฑ์ Shrink film ให้เลือกหลากหลายสเป็กตามความเหมาะสมและความต้องการของทุกประเภทธุรกิจ