เศรษฐกิจชีวภาพ หนึ่งในฟันเฟืองใหม่ขับเคลื่อนอนาคต

25 พ.ค. 2563


 

นานแค่ไหนแล้ว ที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้แบบเดิมๆ จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันมีแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่ออนาคตดูเหมือนจะเดินทางมาถึงจุดตีบตัน แน่นอนว่า แนวคิดหรือวิธีการใหม่ๆ ก็เริ่มที่ถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นทางออกเหมือนกัน ซึ่งหนึ่งในประตูแห่งความหวังที่มีการพูดกันมาได้สักพักแล้วก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) นั่นเอง ว่าแต่เศรษฐกิจชีวภาพคืออะไร? แล้วมันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง? บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

 

 

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คืออะไร?

 

         เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้สำหรับการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลผลิต โดยมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการเสริมความเข้มแข็งของภาคการเกษตรในระบบเศรษฐกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สูงยิ่งขึ้น เปลี่ยนจากการสร้างผลิตภัณฑ์แบบเดิมมาเป็นการสร้างกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองความต้องการในเชิงคุณค่าที่สูงขึ้นของผู้บริโภค

         ทั้งนี้ เศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) 17 เป้าหมายที่ทางสหประชาชาติกำหนดเอาไว้ ซึ่งทั้ง 17 เป้าหมายดังกล่าวจะมีเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพรวมอยู่ในนั้นถึง 11เป้าหมาย ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจน

เป้าหมายที่ 2 : การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน

เป้าหมายที่ 3 : การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เป้าหมายที่ 7 : พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

เป้าหมายที่ 8 : การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายที่ 9 : อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

เป้าหมายที่ 10 : การลดความเหลื่อมล้ำ

เป้าหมายที่ 12 : แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 13 : การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายที่ 14 : การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และ

เป้าหมายที่ 15 : การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

 

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจชีวภาพยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจนครบวงจร (Life cycle) อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทั้งระบบเศรษฐกิจ ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม (Zero Waste) อีกต่างหาก

         ไม่หมดเพียงเท่านั้น เศรษฐกิจชีวภาพยังมีส่วนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งมุ่งเน้นแก้ปัญหามลพิษที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และอาจร่วมกับชีวสารสนเทศ (bioinformatics) เช่น การใช้เซนเซอร์ตรวจวัดข้อมูลในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน แล้วนำข้อมูลมาใช้กับ AI ในการวิเคราะห์ เพื่อหาทางปรับปรุงลดการใช้พลังงาน หรือเพิ่มผลผลิตโดยใช้พลังงานเท่าเดิมด้วย

 

 

 

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ดีอย่างไร?

 

         เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างมากมาย โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพจะนำเอาความรู้ใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ตลอดจนทำให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรและอาหาร ตั้งแต่

การสร้างพันธ์พืชใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย อีกทั้งยังช่วยในการการปรับปรุงให้เกิดวิธีการผลิตแบบใหม่ด้วย

         นอกจากนี้ เศรษฐกิจชีวภาพยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ในการสร้างสรรค์ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำจากพลาสติกชีวภาพและวัสดุชนิดใหม่ ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำสินค้าเกษตรบางชนิดไปผ่านกระบวนการชีวภาพ เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพหรือไบโอเอทานอล ซึ่งช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้กับสังคม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และของเสีย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทางเลือก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหาร อีกต่างหาก

 

 

ด้านสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวถึงข้อดีของเศรษฐกิจชีวภาพเอาไว้เพิ่มเติมด้วย ได้แก่

 

  1. เศรษฐกิจชีวภาพเป็นกลไลที่มุ่งสู่ความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อของสหประชาชาติ
  2. เศรษฐกิจชีวภาพให้ความสำคัญกับการลดการใช้ทรัพยากรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  3. เศรษฐกิจชีวภาพทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง
  4. เศรษฐกิจชีวภาพช่วยให้เกิดการลดการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  5. เศรษฐกิจชีวภาพสนับสนุนการผลิตพลังงานทางเลือก เช่น ไบโอดีเซล, เอทานอล และก๊าซชีวภาพ
  6. เศรษฐกิจชีวภาพช่วยเพิ่มขนาดตลาดแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต เข้าถึงผลิตภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์

 

 

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก การใช้ฐานภูมิปัญญาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อนที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต หลอมรวมเข้ากับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเข้าใจในคุณสมบติที่หลากหลายทางชีวภาพ อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญนำไปสู่การก่อเกิดผลิตภัณฑ์ที่ขยายออกไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การผลิตอาหาร, การแพทย์, การผลิตเสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ นับเป็นแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่จะช่วยสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน