ต่อยอดงานออกแบบเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

19 ส.ค. 2563


ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกให้ความสำคัญและมีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ซึ่งในวงการออกแบบที่ต้องคลุกคลีกับการใช้ทรัพยากรอยู่ตลอดเอง ก็มีการหยิบยกเอาหัวข้อดังกล่าวมาพูดคุย จนนำไปสู่การต่อยอดเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้มากมาย อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นฉายภาพการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนให้เห็นภาพมากยิ่งกว่าเดิม เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ก็ได้มีการจัดโครงการ “Upcycling Upstyling” ขึ้น โดยให้ดีไซเนอร์ชั้นนำจากหลากหลายสาขา มาจับคู่กับผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อผสานนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ สู่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิด Circular Living

         แม้ GC จะเดินหน้าในฐานะบริษัทผู้นำที่ลงมือทำเรื่อง Circular Living ผ่านสินค้า Upcycling เสมอมา แต่กับโครงการ “Upcycling Upstyling” ที่พวกเขาจัดขึ้นมานั้น อาจกล่าวได้ว่า มีความพิเศษและแตกต่างออกไปหากเทียบเคียงกับโปรเจ็คต์อื่นๆ โดยโครงการนี้นับเป็นวาระของการอัพเกรดผลิตภัณฑ์ Upcycling ไปอีกขั้น ด้วยการเน้นให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะของผู้ประกอบการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ Upcycling ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาและให้ความรู้ด้านวัสดุจากทาง GC ควบคู่ไปกับแนวคิดการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นดีไซเนอร์ชั้นนำและมีชื่อเสียงระดับโลกถึง 6 สาขา เพื่อต่อยอดและเปิดมุมมองใหม่ในการเพิ่มคุณค่าทรัพยาการที่ใช้แล้ว ให้กลายเป็นสินค้าหลากหลายที่เปี่ยมไปด้วยความสวยงาม รักษ์โลก และตอบโจทย์การใช้งานจริง ภายใต้คอนเซ็ปต์ของโครงการ นั่นคือ “Up Waste to Value with WOW! Style” นั่นเอง

         ทั้งนี้ การเดินหน้าของ GC กับโครงการดังกล่าว นับเป็นการต่อยอดการตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อส่งเสริมและสร้างการออกแบบที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ ECO-Design จากพลาสติก 3 ประเภทหลักๆ นั่นคือ พลาสติกแบบดั้งเดิม, พลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastic) และพลาสติกทางชีวภาพ (Bio Plastic)     

         อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการนี้จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มลูกค้าและคู่ค้าของ GC ให้เดินหน้าไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และสามารถรับมือกับความท้าทายที่ถาโถมเข้าใส่อุตสาหกรรมพลาสติกโลกแล้ว ทาง GC ยังเน้นเรื่องการให้ความสำคัญกับใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จนต่อยอดไปสู่แนวคิด Circular Living เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และขยายการตระหนักรู้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนไปยังทุกๆ ภาคส่วนด้วย

         สำหรับโครงการ “Upcycling Upstyling” นั้น กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการมีทั้งสิ้น 19 บริษัท ซึ่งมาจากหลากหลายประเภทอุตสาหกรรม อาทิ ผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์, ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมประมง (แห, อวน) และสถานประกอบการทางการแพทย์ (โรงพยาบาล) ฯลฯ ขณะที่ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ (Expert of Style) ที่จะร่วมพัฒนาผลงานกับผู้ประกอบการนั้น ได้แก่

  1. คุณพลอยพรรณ ธีรชัย กับคุณเดชา อรรจนานันท์ จากแบรนด์ THINKK STUDIO และคุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ จากแบรนด์ Qualy ผู้เชี่ยวชาญในหมวด Industrial Design 
  2. คุณกรกต อารมย์ดี จากแบรนด์ KORAKOT และคุณศุภพงศ์ สอนสังข์ จากแบรนด์ jird ผู้เชี่ยวชาญในหมวด Craft & Wood Design 
  3. คุณรรินทร์ ทองมา จากแบรนด์ O&B และคุณยุทธนา อโนทัยสินทวี จากแบรนด์ The Remaker ผู้เชี่ยวชาญในหมวด Fashion Design 
  4. คุณเอก ทองประเสริฐ จากแบรนด์ Ek Thongprasert และคุณศรัณย์ อยู่คงดี จากแบรนด์ SARRAN ผู้เชี่ยวชาญในหมวด Material & Jewelry Design 
  5. คุณสมชนะ กังวารจิตต์ จากแบรนด์ Prompt Design ผู้เชี่ยวชาญในหมวด Packaging Design 
  6. คุณรติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ จากแบรนด์ Openbox ผู้เชี่ยวชาญในหมวด Architecture Design 

         หลังจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการกับผู้ประกอบการที่มีการจับคู่กันเรียบร้อยแล้ว จะมีการร่วมกันคิดและสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ Upcycling ที่สามารถส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนเกิดเป็นจริงขึ้น ซึ่งอีกไม่นานเกินรอ ผลลัพธ์จากความร่วมมือกันดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มเติมขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังอาจมีส่วนทำให้เกิดความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงการเลือกใช้งานพลาสติกแต่ละประเภท อันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามปณิธานของ GC เกี่ยวกับ Circular Living ด้วยนั่นเอง