เรียนรู้แนวทาง "ลด เปลี่ยน แยก"

18 ส.ค. 2563


ท่ามกลางเสียงเชียร์บอลคึกคัก กับขบวนพาเหรด และการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 นี้ ไม่ได้สะท้อนเพียงความสมัครสามัคคีระหว่างสองมหาวิทยาลัย หรือเป็นกิจกรรมสนุกสดใสของวัยหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงพลังของคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อน "Make a Change เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม" ให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังด้วย โดยในงานนี้ยังได้ผู้ใหญ่อย่าง GC มาร่วมสนับสนุนและให้คำปรึกษาให้งานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนหรือปรับชีวิตประจำวันของเราให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าขึ้น จนถึงการแยกขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง เป็นเคมเปญของ GC ในงานครั้งนี้ มาพร้อม 3 คีย์เวิร์ดหลัก "ลด เปลี่ยน แยก" ที่ถูกสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมทุกส่วนของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะโดยรอบสนาม ในขบวนพาเหรด จนถึงบนสแตนเชียร์ มาดูกันว่าแนวทาง "ลด เปลี่ยน แยก" จาก GC ในงานนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ลดขยะตั้งแต่ต้นทางการใช้

ท่ามกลางแดดจ้าและอากาศที่ร้อนในวันนั้น ทำให้ผู้ร่วมงานที่อยู่ภายนอกสนามแวะเวียนไปยังซุ้มน้ำเพื่อเติมน้ำหวานๆ ให้ร่างกายให้อยู่บ่อยๆ โชคดีที่งานนี้ทาง GC ได้คิดกลยุทธิ์ในการลดขยะจากแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยการรณรงค์ให้นำแก้วน้ำส่วนตัวมาเพื่อรับเครื่องดื่มได้ฟรีเลย ส่วนใครที่ไม่ได้พกแก้วมาเองทางงานก็ได้เตรียมแก้ว Bio Compostable ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาให้แทน

สรุปผลสำเร็จของการ "ลดในงานนี้ คือ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 18,121 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 2,013 ต้น ลดการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) 2,487 ชิ้น และลดการนำขยะไปฝังกลบ 72%

เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในไฮไลท์ของงานฟุตบอลประเพณีคือเหล่าขบวนพาเหรดของทั้งสองมหาวิทยาลัยที่เป็นเสียงสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาต่อประเด็นต่างๆ รอบตัว โดยในปีนี้นำเสนอทั้งประเด็นด้านการเมือง สังคม จนถึงสิ่งแวดล้อม โดยทาง GC ยังได้เป็นผู้ช่วยหาวิธีจัดการกับขยะจากขบวนพาเหรดและแสตนด์ ที่หลังจากจบงานจะผ่านการคัดแยกเพื่อเข้าสู่กระบวนการ Reuse Recycle และ Upcycling ซึ่งขยะที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ทางด้านบนสแตนเชียร์ ทาง GC ก็ยังสนับสนุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสำหรับใส่อาหารกลางวันและอาหารว่างไว้เติมพลังให้กับนิสิตนักศึกษาบนแสตนด์อีกด้วย

สรุปผลสำเร็จของการ "เปลี่ยนในงานนี้ คือ สามารถเปลี่ยนไปใช้กล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพได้ 8,880 ชิ้น สามารถเปลี่ยนไปใช้เสื้อ Upcycling จากขวดพลาสติก สำหรับสตาฟเชียร์ได้ 3,700 ตัว และเปลี่ยนไปใช้ถุง Upcycling จากขวดพลาสติกได้ 5,700 ใบ

แยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อให้สามารถนำไปจัดการต่อได้อย่างเหมาะสม

ทั้งบริเวณโดยรอบสนาม ที่พักสตาฟ จนถึงพื้นที่รับรองผู้ใหญ่รวมทั้งหมด 21 จุด ได้จัดให้มีถังแยกขยะที่ถูกต้องภายใต้แนวทาง "เท ทิ้ง เท ท้ิง) โดยต้องเริ่มจาก เท น้ำ/น้ำแข็ง/เศษอาหาร ก่อน ทิ้ง โดยแยกเป็นวัสดุแห้งรีไซเคิล (กระป๋องน้ำอัดลม แก้วกระดาษ แก้วพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว) แก้ว Bio และขยะเลอะ (ทิชชู่ใช้แล้ว กล่องข้าว แก้วน้ำปั่น ถุงร้อนที่เลอะ เป็นต้น) อีกทั้งทาง GC ยังให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบกิจกรรมด้านการคัดแยกขยะบนสแตนแปรอักษร รวมถึงแสตนคนดูให้กับนิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยด้วย โดยถังขยะออกแบบมาใหม่ให้เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเพื่อสามารถแยกขยะพลาสติกประเภท PET และ PE ที่นำมารีไซเคิลต่อไปได้

ด้วย GC มุ่งเน้นส่งเสริมแนวคิดของ Circular Living หรือการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในชีวิตประจำวันเพื่อร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนอยู่แล้วนั้น ในงานนี้ทาง GC ยังได้สนับสนุนวัสดุทางเลือกอย่างพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ทางชีวภาพ (GC Compostable) และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตผ่านกระบวนการอัพไซคลิง(Upcycling) ให้กับทั้งสองมหาวิทยาลัย ได้แก เสื้อสตาฟ และถุงยังชีพด้วย

 

สรุปผลสำเร็จของการ "แยะขยะในงานนี้ คือ สามารถแยกขยะรวม 4,992 กิโลกรัม

หลังจากแยกขยะแล้วนั้น ขยะจะถูกนำไปจัดการต่อให้เหมาะสม โดยเข้าสู่กระบวนการ Upcycling หรือสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ อย่าง ขวดพลาสติกทั้งหมดที่รวบรวมได้ในงานจะนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเป็น รองเท้า เพื่อมอบให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน ส่วนผ้าและไวนิล จะถูกใช้เป็นวัสดุสำหรับทำกระเป๋าใบใหม่มอบให้น้องๆ ในพื้นที่ห่างไกลเช่นกัน และไม้จะถูกนำไปสร้างบ้านร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ขยะเศษอาหาร จะนำไปเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย ส่วนขยะพลาสติกชีวภาพ นำไปฝังเพื่อสลายตัวเป็นปุ๋ย หรือใช้เป็นกระถางเพาะชำต่อไป

สิ่งสำคัญของงานฟุตบอลประเพณีฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ในทุกๆ ปี จึงไม่ใช่อยู่ที่ผลแพ้ชนะในสนาม แต่เป็นการสะท้อนพลังของคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนสังคมโลกต่อไปในทิศทางใดให้เติบโตอย่างยั่งยืนจวบจนถึงรุ่นพวกเขาและรุ่นต่อๆ ไป