GC และ ENVICCO จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง พลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกหรือทางรอด

9 พ.ย. 2566


GC และ ENVICCO จัดงานสัมมนาออนไลน์
เรื่อง “พลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกหรือทางรอด”

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13:30-15:30 น.
ผ่านช่องทาง Microsoft Teams online

โดยได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญเรื่องหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือเรียกว่าหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นการรับคืน การรีไซเคิลและการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ บรรยายโดย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิกฤติขยะในประเทศไทย

ประเทศไทยสร้างขยะประมาณ 27 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ารถยนต์ 27 ล้านคัน

เราผลิตขยะ เฉลี่ย 1.14 กก./คน/วัน สูงกว่าค่าเฉลี่ย ของกลุ่ม ประเทศกำลังพัฒนาที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน (Lower Middle Income) 0.79 กก./คน/วัน

ถึงเวลาที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมรับผิดชอบต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

“ขยะ ” เป็นความร่วมผิดชอบของ ผู้ก่อให้เกิดขยะ ” ตามหลัก Polluter Pay Principle(PPP)

“ขยะ” มิใช่ภาระของ อปท. รัฐต้องแก้ปัญหาความล้มเหลวงของตลาดที่ไม่ได้คิดรวมต้นทุนสิ่งแวดล้อมด้วยกลไก EPR,ภาษี /ค่าธรรมเนียมเข้ากองทุน ฯลฯ

EPR คืออะไร

EPR คือ หลักการทางนโยบายที่ทั่วโลกนำมาใช้เป็นฐานในการออกกฎหมายหรือมาตรการที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบสินค้าที่ตนผลิตตลอดวงจรชีวิตของสินค้านั้นๆ โดยกฎหมายฉบับแรกที่นำหลักการ EPRมาปรับใช้คือกฎหมายจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของเยอรมนีในปีค.ศ. 1991 จากผลสำเร็จที่กฎหมายช่วยลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ที่ต้องส่งไปกำจัด เพิ่มอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มนำหลักการ EPR มาเป็นฐานในการออกกฎหมายเพื่อจัดการขยะที่ท้องถิ่นจัดการได้ยาก เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์สิ้นสภาพ ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ เป็นต้น

ประโยชน์หากมีกฎหมาย EPR บังคับใช้ในอนาคตการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์

  • ราคาวัสดุรีไซเคิลจะผันผวนน้อยลงหรือมีการพยุงราคา
  • ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาด
  • มีความโปร่งใสในระบบ , ยกระดับคุณภาพชีวิตซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า
  • ประชาชนส่งคืนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วได้สะดวก
  • อปท . เก็บแยก , จุด drop-off ตามห้าง , ร้านสะดวกซื้อ , ปั๊ม
  • มีโปรโมชั่นนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วมาแลกของใหม่
  • ประชาชนมีความตระหนักและแยกขยะมากขึ้น

ปัจจุบันมีโครงการนำร่องและกฎหมาย EPR ในไทยและเพื่อนบ้าน เช่น โครงการ PRO Thailand Network ขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนภายใต้หลักการ EPR เป็นการรวมตัว บริษัทพันธมิตรชั้นนำในประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกกฎหมาย EPR เพื่อจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และขยะพลาสติก ,e-waste และซากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปแล้วเช่นกัน

ในประเทศไทยได้ร่างพรบ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน และกรมควบคุมมลพิษได้กำหนดแผนงานจัดทำร่างกฎหมาย CE/EPR บรรจุภัณฑ์ตั้งเป้าประกาศใช้ภายในปี 2569 และร่างกม.ส่งเสริม CE ภายในปี 2570

GC และ ENVICCO ร่วมบรรยายเรื่อง “เม็ดพลาสติก PCR InnoEco กับบทบาทสนับสนุน EPR และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยคุณ ธนูพล อมรพิพิธกุล นักวิเคราะห์อาวุโส
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (จำกัด) มหาชน

หัวข้อการบรรยาย

1.ENVICCO’s PCR –Quality, Safety and Environmental Impact

  • ENVICCO’s PCR Plastic Circular Economy Collaboration across Plastic Supply chain 
  • แนะนำผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ InnoEco ผลิตจากพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือน ด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลมาตรฐานยุโรป เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (PCR) คุณภาพสูง มีคุณสมบัติเทียบเคียงเม็ดพลาสติกใหม่
  • เม็ดพลาสติก PCR 100% ชนิด PET (PCR PET) เกรดสัมผัสอาหาร ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย โดยสามารถใช้ได้กับบรรจุภัณฑ์ทุกขนาด ทุกความหนา
  • เม็ดพลาสติก PCR 100% ชนิด PET (PCR PET) เกรดสัมผัสอาหาร ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลทั้งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) รวมถึงหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม 
  • เม็ดพลาสติก PCR 100% ชนิด HDPE (PCR HDPE) เกรดบรรจุภัณฑ์ และมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการกำจัดกลิ่น สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล เช่น ขวดแชมพู ขวดสบู่ แกลลอนน้ำมัน
  • วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนในประเทศไทย โดยทาง GC ร่วมกับ ENVICCO ในการสร้างศูนย์บริหารจัดการขยะรีไซเคิลในหลายจังหวัด ตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้คนและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิล รวมถึงสร้างระบบการบริหารจัดการขยะของชุมชนให้ครบวงจร ในระยอง นครปฐม และจังหวัดอื่นๆ โดยนำ ‘GC YOUเทิร์น’ แพลตฟอร์มเข้ามาช่วยจัดการ ตั้งแต่วิธีการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง เพื่อส่งต่อให้กับโรงงาน ENVICCO ไปทำการคัดแยกและทำความสะอาด ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยการปรับปรุงคุณสมบัติด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก จนกลายเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ตลอดจนการติดตั้งระบบการสอบทาน(traceability)อันทันสมัย ทำให้สามารถสอบกลับที่มาของพลาสติกใช้แล้วได้ 100%

2.ความท้าทาย / ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับเม็ดพลาสติกรีไซเคิล

  • ความท้าทายในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย : การเลือกใช้ขวดสี เลือกฉลากที่ทำจาก PVC และการพิมพ์สีลงบนขวด ทำให้การรีไซเคิลทำได้ยากขึ้น
  • การรีไซเคิลขวด PET สามารถรีไซเคิลซ้ำได้เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่สามารถทำกำจัดสิ่งแปลกปลอม และปรับปรุงคุณสมบัติของเม็ดพลาสติก PCR PET ให้กลับมามีคุณสมบัติเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ โดยสามารถรีไซเคิลวนซ้ำได้เรื่อยๆ แต่สีของขวดจะมีสีเข้มขึ้น (เม็ดพลาสติกรีไซเคิลทั่วโลกจะมีสีที่เข้มและแตกต่างจากเม็ดพลาสติกใหม่ เนื่องจากการผ่านกระบวนการทำความสะอาดและการผลิตที่ความร้อนสูงเพื่อให้มั่นใจในความสะอาดปลอดภัย สีที่เข้มขึ้นของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจึงเป็นสีแห่งความรักษ์โลกและความปลอดภัย), โดยในยุโรปหรือในสหรัฐฯ เมื่อมีสัดส่วนการใช้รีไซเคิลอย่างแพร่หลายในสัดส่วนที่มากเกือบเท่ากับเม็ดพลาสติกใหม่ (รีไซเคิลในต่างประเทศมีใช้มากว่า 10 ปี) สีขวดจะมีสีเข้ม ในระหว่างนี้ ตลาดเมืองไทยพึ่งเริ่มมีการใช้งาน ทางผู้ผลิตตรสินค้า Brand owner ต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้บริโภคตั้งแต่ต้น
  • ความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่คัดแยกขยะ
    ซึ่งจะทำให้การรีไซเคิลไม่มีประสิทธิภาพ